พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่ พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร ศิลปะล้านนา

พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่ พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชรศิลปะเชียงแสน

พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่ ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

พระพุทธลักษณะพระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานที่จังหวัดเชียงใหม่และนครศรีธรรมราช จะเป็นพุทธลักษณะปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน คือจะเป็นพุทธลักษณะนั่งขัดสมาธิเพชร

ส่วนพระพุทธสิหิงค์ กรุงเทพฯ นั้น เป็นพระพุทธรูปสำคัญ 10 พระพุทธรูปวังหน้า ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางสมาธิ สูง 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร เข้าใจว่ามีลักษณะทางศิลปกรรมแบบสุโขทัยที่มีอิทธิพลศิลปะลังกา หรือตำนานพระพุทธสิหิงค์ กล่าวว่า พระพุทธสิหิงค์มาจากลังกา

ประวัติพระพุทธสิหิงค์

ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีปทรงสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 700 ต่อมา พระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งราชอาณาจักรตามพรลิงก์ได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมา ได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชรและเชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. 2205 ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง 105 ปี

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ชาวเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่ เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2338 โดยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล นิยมเชิญออกมาช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ประชาชนไทยได้สักการะและสรงน้ำ

พระพุทธสิหิงค์ ในประเทศไทย มีทั้งหมด 3 องค์ คือ

  1. พระพุทธสิหิงค์ กรุงเทพมหานคร
  2. พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่
  3. พระพุทธสิหิงค์ นครศรีธรรมราช

ตำนานพระพุทธสิหิงค์

ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่ มีว่า

“การสร้างได้ประกอบขึ้นด้วยแรงอธิษฐาน 3 ประการคือ

  1. คำอธิษฐานของพระอรหันต์ผู้ร่วมพิธี
  2. แรงอธิษฐานของพระเจ้ากรุงลังกาผู้สร้าง
  3. อานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

การที่พระพุทธสิหิงค์เสด็จประทับอยู่ที่ใด พระพุทธศาสนาย่อมรุ่งเรืองดังดวงประทีปเสมือนหนึ่งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่”

สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่ ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

บทสวดบูชาพระพุทธสิหิงค์

งานประเพณีพระพุทธสิหิงค์

ช่วงเทศกาลสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 11 – 14 เมษายนของทุกปี โดยประมาณ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะอัญเชิญพระพุทธสิงหิงค์ จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ไปประดิษฐานบนมณฑป ณ บริเวณสวนลุมพินี หรือ บริเวณท้องสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาและสรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี

รูปภาพพระพุทธสิหิงค์

รูปภาพพระพุทธสิหิงค์

อานิสงส์การบูชาพระพุทธสิหิงค์

อานิสงส์ของการกราบไหว้พระพุทธสิหิงค์นั้น หลวงวิจิตรวาทการ ผู้รวบรวมประวัติ ตำนานย่อพระพุทธสิหิงค์ ได้กล่าวไว้ความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าผู้เขียนตำนานย่อฉบับนี้ มีความเชื่อมั่นในอานุภาพของพระพุทธสิหิงค์อยู่มาก อย่างน้อยก็สามารถบำบัดทุกข์ร้อนในใจให้เหือดหาย ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนในใจท้อถอยหมดมานะด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ข้าพเจ้าขอแนะนำให้มาจุดธูปเทียนบูชาและนั่งนิ่งๆ มองดูพระองค์สัก 10 นาที ความทุกข์ร้อนในใจจะหายไป ด้วงจิตที่เหี่ยวแห้งจะกลับมาสดชื่น หัวใจที่ท้อถอยหมดมานะ จะกลับเข้มแข็งมีความมานะพยายาม ดวงจิตที่หวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจคร้านจะกลับขยัน ผู้ที่หมดหวังจะกลับมีหวัง”

หลวงวิจิตรวาทการ ผู้รวบรวมประวัติ ตำนานย่อพระพุทธสิหิงค์

Leave a comment