พญานาคราช ผู้บำเพ็ญฌานเลื่อมใสพระพุทธศาสนา ครอบครองมณีนาคา 7 ดวง
พญามุจลินท์นาคราช หรือพ่อปู่มุจลินท์นาคราช พญานาคราชเจ้าแห่งนาคภิภพ เป็นพญานาคในตระกูลวิรูปักษ์ (พญานาคตระกูลสีทอง) ซึ่งเป็นพญานาคชั้นสูงที่มีพลังอำนาจและอิทธิฤทธิ์เหนือกว่าพญานาคในตระกูลอื่นๆ กำเนิดขึ้นแบบโอปปาติกะ คือกำเนิดขึ้นเอง แล้วเป็นผู้ใหญ่เลย ซึ่งเหมือนการกำเนิดของเทวดาและนางฟ้าบนสวรรค์ พญามุจลินท์นาคราชเป็นหนึ่งในเก้าองค์พญานาคาธิบดี ทั้ง ๙ พระองค์
พญานาคประจำวันเกิดคนเกิดวันเสาร์
พญามุจลินท์นาคราช เป็นพญานาคราชประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์ มีลักษณะสัณฐานใหญ่โต มีพระเศียร ปล้องพระนาภี และเกล็ดเป็นสีทอง สามารถแผ่เศียรได้ถึง 7 เศียร แม้พระองค์จะมีอายุนับพันปี แต่ด้วยอำนาจบารมีที่มีส่งผลให้องค์พญามุจลินท์นาคราชจำแลงกายเป็นมานพหนุ่มรูปร่างงดงาม โฉมหมดจด ผิวพรรณผ่องใสดุจทองทา เมื่อจำแลงเป็นมนุษย์
พระองค์เป็นพญานาคที่รักสงบ เลื่อมใสศรัทธาในหลักธรรมของพุทธศาสนา ทำให้พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อมุ่งจะละซึ่งทางโลก ทรงถือครองพรหมจรรย์บำเพ็ญพรต หลุดพ้นภูมินาคะดิรัจฉาน จุติเป็นเทพนาคราชชั้นพรหม ไม่มีชายา และด้วยบารมีที่สูงส่งและการมุ่งเข้าญาณสมาธิบำเพ็ญตะบะอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พระองค์ทรงครอบครองมณีนาคาไว้ถึง 7 ดวง ทำให้สามารถควบคุมฟ้าฝนได้ดั่งฤทัยปรารถนา และด้วยอำนาจบารมีที่สูงส่ง ส่งผลให้พระองค์มีพระเนตรสีฟ้า มีอิทธิฤทธิ์สามารถสะกดศัตรูใดๆ ด้วยมนตราพญานาคเพียงแต่เพ่งมอง อีกทั้งพระองค์สามารถจำแลงแปลงกายเป็นอะไรก็ได้ตามปรารถนา รวมทั้งสามารถพ่นพิษที่มีอานุภาพรุนแรงที่เมื่อต้องกายผู้ใด ร่างนั้นก็จะสลายไปพลันพริบตา ไม่เกรงกลัวแม้มนต์อาลัมพายต์ (มนตราของพญาครุฑที่ใช้ปราบพญานาค)
ตำนานพญามุจลินท์นาคราช
เป็นเรื่องราวของพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นาม มุจลินท์นาคราช ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนาแต่มิสามารถบวชเป็นพระเพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อการหลุดพ้นได้ ตามพุทธประวัติ ปรากฏเรื่องราวของพญานาคมุจลินทร์ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จไปยังสถานที่ 7 แห่งเพื่อทรงเสวยวิมุติสุข (ทรงพักผ่อนหลังการตรัสรู้ 49 วัน ณ สถานที่ 7 แห่ง เป็นความสุขที่เกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลสและเรื่องเศร้าหมองใดๆ) มีอยู่ครั้งหนึ่งได้ไปเสด็จประทับนั่งขัดสมาธิที่ใต้ร่มไม้จิก อันมีนามว่า “มุจลินท์” ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ในป่าหิมพานต์ อันตั้งอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงใต้แห่งไม้มหาโพธิ์ ทรงเสวยวิมุติสุขอยู่ ณ ที่แห่งนี้อีก 7 วัน แต่ในกาลนั้นเกิดฟ้าฝนคะนองลงมาตลอดทั้ง 7 วัน ปรากฏมีพญานาคนามว่า “มุจลินท์นาคราช” ที่มีอำนาจและอิทธิฤทธิ์มาก อยู่ที่สระโบกขรณีใกล้ต้นมุจลินทร์นั้น เมื่อได้พบเห็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเกิดความเลื่อมใส และได้ถวายอารักขาโดยขนดกายโอบรอบพระพุทธองค์ได้ 7 รอบ แล้วแผ่พังพาน ปกป้องบนพระเศียร มิให้ฝนและลมหนาวต้องพระวรกายพระผู้มีพระภาคเจ้า รวมทั้งเหลือบ ยุง และสัตว์น้อยใหญ่ (จึงเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรกสำหรับผู้ที่เกิดในวันเสาร์)
เมื่อฝนหยุดแล้ว มุจลินทร์นาคราชจึงคลายขนด แล้วจำแลงกายเป็นมานพหนุ่ม ถวายนมัสการ ณ เบื้องพระพักตร์ พระองค์จึงส่งเปล่งพระอุทานว่า “ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว ผู้เห็นอยู่ ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก”
คาถาบูชาพญามุจลินท์นาคราช
(นะโมฯ ๓ จบ)
กายะ วาจา จิตตัง อะหังวันทา
(สวด ๓ ครั้ง)
นาคามุจลินทนาคราช วิสุทธิเทวา ปูเชมิ
คาถาบูชาพญานาค พ่อปู่มุจลินท์นาคราช (อธิษฐานขอทรัพย์)
อธิษฐานขอทรัพย์จากพญานาคาธิบดี ผู้เป็นใหญ่แห่งพญานาคทั้งปวง
(นะโม ๓ จบ)
“กายะ วาจา จิตตัง อะหังวันทา นาคาธิบดีมุจลินทนาคราช วิสุทธิเทวาปูเชมิ
ทุติยัมปิ กายะ วาจา จิตตัง อะหังวันทา นาคาธิบดีมุจลินทนาคราช วิสุทธิเทวาปูเชมิ
ตะติยัมปิ กายะ วาจา จิตตัง อะหังวันทา นาคาธิบดีมุจลินทนาคราช วิสุทธิเทวาปูเชมิ
เมตตัญจะมหาลาโภปิโยนาคะ ขันปริตตัง”
ข้าพเจ้า …(ชื่อ นามสกุล…) ขออธิษฐาน…..(คำอธิษฐาน)….. ขอให้คำอธิษฐานนี้ จงบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าและครองครัวตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปด้วยเทอญ
พิกัดไหว้พญานาค พ่อปู่มุจลินท์นาคราช
- พิกัดไหว้พญามุจลินทร์นาคราช วัดมุจลินท์ ต.มุจลินท์ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี
- พิกัดไหว้พญามุจลินทร์นาคราช วัดพระธาตุบังพวน ต.พระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย
- พิกัดไหว้พญามุจลินท์นาคราช วัดป่าสุวรรณาราม (วัดถ้ำแสงทิพย์) ต.ภูวง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร
โพสต์เกี่ยวกับ พญานาคประจำวันเกิด
ศรัทธา ความเชื่อการบูชาพญามุจลินท์นาคราช
- การบูชาสักการะ ขอพรพญามุจลินท์นาคราช อธิษฐานขอพรช่วยให้ชีวิตประสบความสำเร็จ สมหวัง
*** ศรัทธา ความเชื่อ การกราบไหว้บูชา เป็นวิจารณญาณ ความเชื่อส่วนบุคคล ***
ที่มาข้อมูลและรูปภาพ:
- เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (th.wikipedia.org)
- เว็บไซต์วิกิซอร์ซ (th.wikisource.org)
Leave a comment