คาถาบูชาพระประจำวันอาทิตย์ บทสวดบูชาพระประจำวันเกิดวันอาทิตย์

บทสวดมนต์ คาถาบูชาพระประจำวันอาทิตย์

คาถาบูชาพระประจำวันอาทิตย์ พระปางถวายเนตร

องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ที่ร่มพระศรีมหาโพธิ ๗ วัน แล้วเสด็จจากร่มพระศรีมหาโพธิ ไปประทับยืนกลางแจ้งทางทิศอิสานของต้นศรีมหาโพธินั้น ทรงทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิโดยไม่กระพริบพระเนตร ด้วยพระอิริบาบาถนั้นถึง ๗ วัน สถานที่เสด็จประทับยืนทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธินั้น เป็นนิมิตมหามงคลเรียกว่า “อมิสสเจดีย์”

พระปางถวายเนตรเป็นพระประจำวันอาทิตย์ พระพุทธจริยาที่ทรงเพ่งจ้องพระเนตรดูต้นศรีมหาโพธิโดยไม่กระพริบพระเนตรถึง ๗ วันนี้ เป็นเหตุแห่งการสร้างพระพุทธรูปปางนี้เรียกว่า “พระปางถวายเนตร” นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปที่สักการบูชาพระประจำวันคนเกิดวันอาทิตย์

อนึ่ง ต้นไม้อสัตถโพธิพฤกษ์อันเป็นสถานที่กำเนิดพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและสัจธรรมอันบริสุทธิ์ สำหรับชำระกิเลสนานาชนิดของสัตว์โลกได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ จึงพลอยได้นามตามการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ว่า “ต้นพระศรีมหาโพธิ์พฤกษ์” ด้วย

พุทธลักษณะพระพุทธรูปปางถวายเนตร :

พระพุทธรูปปางถวายเนตรในพระอริยาบถประทับยืน ลืมพระเนตรทั้งสองข้างเพ่งไปข้างหน้า ทอดพระเนตรดูต้นศรีมหาโพธิพฤกษ์พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานทับกันอยู่ข้างหน้าระหว่างพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในพระอาการสังวร

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอาทิตย์ ฉบับเต็ม

อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พราหะมะณา เวทะคุ
สัพพะธัมเม เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง
นะมัตถุ โพธิยา นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสนา ฯ

สวดภาวนาวันละ ๖ จบ ป้องกันตัวจะได้มีความสุขความเจริญปราศจากภัยอันตรายต่างๆ ถ้ามีพระพุทธรูปปางถวายเนตรไว้สักการะ พระท่านว่าเป็นการดีนักแลฯ

บทสวดบูชาพระประจําวันอาทิตย์ แบบย่อ:

(ตั้งนะโม ๓ จบ)

อะ วิช สุ นุส สา นุต ติ

สวด ๖ จบ เพื่อเสริมสิริมงคลชีวิต

พิกัด ไหว้พระประจำวันอาทิตย์ พระพุทธรูปปางถวายเนตร

  • พระพุทธรูปปางถวายเนตร พระประจำวันอาทิตย์ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

ที่มาของประวัติความเป็นมา:

  • เว็บไซต์ ฐานข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น
    มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
  • กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

Leave a comment