บทสวดมนต์ คาถาบูชาพระประจำวันเสาร์ ฉบับเต์ม

บทสวดมนต์ คาถาบูชาพระประจำวันเสาร์

คาถาบูชาพระประจำวันเสาร์ พระปางนาคปรก

เหตุที่พระประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์กำหนดเป็นพระปางนาคปรกเป็นพระประจำวันเสาร์ เพราะวันเสาร์เป็นวันแข็งและดาวเสาร์ก็เป็นดาวบาปเคราะห์ใหญ่ ผู้ที่เกิดวันนี้จึงมักอาภัพ มักมีเรื่องทุกข์ใจ ผิดหวัง และพบเจออุปสรรคอยู่เสมอ ดังนั้น โบราณจึงให้พระนาคปรก เป็นพระประจำวันเสาร์ เปรียบเสมือนให้พญานาคราชได้แผ่พังพานปกป้องคุ้มครองให้เจ้าชะตาพ้นทุกข์และภัยพิบัติต่างๆ อีกทั้งดาวเสาร์ยังใช้เลข ๗ เป็นสัญลักษณ์ซึ่งตรงกับเศียรพญานาคและการวงขนดเป็น ๗ รอบ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าพระปางนี้ศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตา ซึ่งสอนทางอ้อมให้ระลึกถึงอานิสงส์ของความเมตตาที่จะเกิดผลดีต่อ ผู้ปฏิบัติ ดังที่พญานาคยังขึ้นจากน้ำมาถวายอารักขาพระพุทธเจ้าก็ด้วยพลานุภาพแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่สัมผัสได้ ดังนั้น คนวันเสาร์ที่มักเป็นคนเจ้าทุกข์ เขาจึงให้ฝึกมีเมตตาอยู่เสมอ เพื่อให้ทุกข์คลายลง

พระปางนาคปรก เป็นพระประจำวันเสาร์ มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ในสัปดาห์ที่ ๓ ได้ไปประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) ขณะนั้นฝนได้ตกลงมาไม่หยุดเป็นเวลา ๗ วัน พญานาคตนหนึ่งชื่อว่า “มุจลินท์นาคราช” ก็ได้ขึ้นมาแสดงอิทธิฤทธิ์เข้าไปวงขนด ๗ รอบและแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าไว้ จนฝนหาย จึงได้แปลงร่างเป็นมานพเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

พุทธลักษณะพระพุทธรูปปางนาคปรก :

พระพุทธรูปปางนาคปรก เป็นพระประจำวันเสาร์ พระประจำวันเกิดปางนี้ ในพระอริยาบถประทับขัดสมาธิ (นั่ง) หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์ และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร

บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันเสาร์ ฉบับเต็ม

ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา
ชาโตนาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง
ชีวิตา โวโรเปตาเตนะ สัจเจนะ
โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ

(สวด ๑๐ จบ)

สวดวันละ ๑๐ จบ จะมีความสุขความเจริญและเกิดความสวัสดีมีมงคลตลอดกาลนาน และผู้ที่เกิดวันเสาร์ พึงใช้เครื่องประดับและบ้านเรือนเป็นสีดำหลัว หรือสีม่วง ส่วนสีรองๆ ลงมา คือ สีเทา สีเมฆหมอก สีดอกรัก สีน้ำเงิน พึงเว้นสีเขียว

บทสวดบูชาพระประจําวันเสาร์ แบบย่อ:

(ตั้งนะโม ๓ จบ)

โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ

สวด ๑๐ จบ เพื่อเสริมสิริมงคลชีวิต

พิกัด ไหว้พระประจำวันเสาร์ พระพุทธรูปปางนาคปรก

  •  

ที่มาของประวัติความเป็นมา:

  • เว็บไซต์ ฐานข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น
    มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
  • กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

Leave a comment