การขึ้นท้าวทั้งสี่ หรือพิธีการขึ้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4
เป็นพิธีบวงสรวงท้าวทั้ง 4 และเทพเทวดาอีก 2 องค์ รวม 6 องค์ จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของทางภาคเหนือที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยจะมีการประกอบพิธีบวงสรวงก่อนจัดงานพิธีมงคลใดๆ หากบ้านใดจะประกอบพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่นี้ เพื่อนบ้านก็จะมาช่วยจัดเตรียมเครื่องประกอบพิธี ที่มีทั้งอาหารคาวหวาน ผลไม้ ตุง ข้าวตอกดอกไม้ และอื่นๆ แต่ละชนิดต้องมีครบ 4 อย่าง
ท้าวทั้งสี่ คือใคร ?
ท้าวทั้ง 4 คือ ท้าวจาตุมหาราชิกา ผู้รักษาทิศทั้ง 4 ซึ่งหมายถึง ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ตามตำนานทางศาสนาท้าวจตุโลกบาลเป็นเทพ ในกามาวจรภูมิเป็นสวรรค์ชั้นแรก คือ จาตุมหาราชิกา ซึ่งสวรรค์ชั้นกามวจรภูมิมีทั้งหมด 6 ชั้น คือ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา, สวรรค์ชั้นดาวดึงส์, สวรรค์ชั้นยามา, สวรรค์ชั้นดุสิต, สวรรค์ชั้นนิมมานรดี และสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ตามแนวความเชื่อทางพระพุทธศาสนา สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ตั้งอยู่บนเขายุคันธร สูงจากพื้นผิวโลก 46,000 โยชน์ สวรรค์ชั้นนี้นับเป็นสถานที่พิเศษยิ่งกว่ามนุษย์โลกด้านความเป็นอยู่และความสุข ดามาจรเทพชั้นนี้เรียกรวมกันว่า “จาตุมหาราชิกเทวดา” ในสวรรค์ชั้นนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ซึ่งมีมหาราชทั้ง 4 องค์ครองอยู่แบ่งเป็นส่วนๆ ไปคือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ ท้าวสุวรรณ ท้าวสุวรรณ หรือท้าวกุเวร (ในไตรภูมิพระร่วงเรียกท้าวไพศรพณ์หาราช) ในสวรรค์ชั้นนี้ มีพระอินทราธิราช หรือท้าวอัมรินทราธิราชเป็นราชาธิบดี (พระอินทร์) คือเป็นผู้ปกครองท้าวจตุรมหาราชิกา โดยท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 จะต้องเข้าเฝ้าพระอินทร์ในสุธัมมสภาคศาลา
ท้าวมหาราชธตรฐ
ท้าวมหาราชธตรฐ คือ ท้าวธตรัฏฐ หรือ ท้าวธตรฐ เป็นองค์หนึ่งในมหาราชทั้ง 4 พระองค์ ที่ครองชั้นจาตุมหาราชิกเป็นหัวหน้าคือ ราชาแห่งคนธรรพ์ มีหน้าที่บูชาทิศบูรพา(ตะวันออก) ของเขาพระสุมรุกล่าวว่า ท้าวธตรฐมีโอรสหลายองค์ โดยมีนามเรียกกันว่า “ศิริ” ในวิมานที่อยู่ของมหาราชองค์นี้ล้วนเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ กัน เป็นที่น่ารื่นรมย์ มีเสียงดนตรีและการร่ายรำ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ชื่นชมแก่พระองค์และพระโอรสทั้งหลาย
ท้าวมหาราชวิรุฬหก
ท้าวมหาราชวิรุฬหก คือ ท้าววิรุฬหก มหาราชองค์นี้เป็นใหญ่ในกุมภัณฑ์ ซึ่งให้การอารักขาทิศทักษิณ (ใต้) แห่งเขาพระสุเมรุ เทวดาโอรสของพระองค์มี 9 องค์ด้วยกัน แต่ละองค์ล้วนแต่มีฤทธิ์อานุภาพแกล้วกล้าปรีชาชาญ งามสง่า และเป็นที่ยกย่อง เกรงขามทั่วไป ท้าวจตุโลกบาลองค์นี้ มีสิ่งประดับบารมีมากมาย เสวยสุขอยู่ในหมู่ราชโอสร ตลอดพระชนมายุ 50 ปีทิพย์ หรือปีมนุษย์นับได้ 16,000 ปี เป็นประมาณ
ท้าวมหาราชวิรูปักษ์
ท้าวมหาราชวิรูปักษ์ คือ ท้าววิรูปักษ์ หรือ วิรูปักนี้เป็นเทวราชองค์ที่สามมีนาคเป็นบริวาร หน้าที่ดูแลทิศปัจฉิม (ตะวันตก) ท้าววิรูปักข์ของภูเขาสินเนรุราช ในสุธรรมาเทวสภา ท้าวมหาราชองค์นี้จะผินพักตร์ไปทางทิศตะวันออกมีพระโอรสทั้งหมด 90 องค์ ล้วนแต่ทรงพลังกล้าหาญ งามสง่า และทรงปรีชาในกรณียกิจทั้งหลาย พระโอรสทั้งหมดล้วนแต่มีนามว่า “อินทร์” ในเทพนครด้านปัจฉิมนี้ มีทิพย์สมบัติต่างๆ อันงดงามและดีเยี่ยม เท่าเทียมกับเทพนครอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันนี้ท้าวรูปักษ์ทรงครอบครองราชย์สมบัตินานเท่าเทียมกับเทวราชองค์อื่นๆ
ท้าวมหาราชเวสสุวรรณ
ท้าวมหาราชเวสสุวรรณ คือ ท้าวเวสสุวรรณ (ท้าวเวสสุวัณย์) หรือ ท้าวกุเวร (ท้าวไพศรพณ์มหาราชในไตรภูมิพระร่วง) เป็นพระราชาธิบดีของยักษ์ทั้งหลาย ในการพิทักษ์อาณาเขตด้านทิศอุดร (เหนือ) ของสุเมรุบรรพต มหาราชองค์นี้มีอาณาจักรครอบคลุมภาคเหนือทั้งหมด มีนครหลวงชื่อ อิสนคร พระองค์มีโอรสจำนวน 90 องค์ ล้วนแต่สง่างาม มีศักดานุภาพเป็นอันมาก ราชโอรสเหล่านี้มีพระนามว่า “อินทร์” ในเทพนครนี้เป็นทิพยวิมานทิพยสมบัติที่ท้าวเวสสุวรรณครองอยู่ท่ามกลางราชโอรส เป็นเวลาถึง 500 ปีทิพย์ จึงสิ้นวาระแห่งเทพจตุโลกบาล
พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ คืออะไร ?
เป็นพิธีบวงสรวงท้าวจตุโลกลาลทั้ง 4 และเทพเทวดาอีก 2 องค์ รวม 6 องค์ จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของทางภาคเหนือที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยจะมีการประกอบพิธีบวงสรวงก่อนจัดงานพิธีมงคลใดๆ หากบ้านใดจะประกอบพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่นี้ เพื่อนบ้านก็จะมาช่วยจัดเตรียมเครื่องประกอบพิธี ซึ่งในเเง่พิธีกรรมเเล้ว จะมีการทำพิธีบวงสรวงท้าวทั้งสี่ทุกครั้งที่จะประกอบพิธีมงคล อย่างงานเฉลิมฉลองศาสนสถาน เคหสถาน และงานมงคลทั่วไป ซึ่งจะต้องมีการทำปราสาทหรือเเท่นท้าวทั้งสี่ โดยปักเสาสูงประมาณหนึ่งเมตรครึ่ง เเล้วมีไม้สองท่อนยาวประมาณ 1 เมตร มาตอกตะปูให้ขวางกันเเละยื่นปลายไปในทิศทั้งสี่ ที่ปลายของไม้เเละหลักนั้นให้หาชิ้นไม้กว้างยาวประมาณหนึ่งคืบมาตีเเปะไว้ ให้จัดสะทวงเครื่องสี่ (อ่านว่า “สะตวง”) คือกระบะกาบกล้วยบรรจุเครื่องสังเวยต่างๆ กระบะละ 4 ชุด จำนวน 6 สะทวง นำสะทวงดังกล่าว ไปวางไว้ที่ยอดเสากับปลายไม้ทั้งสี่ทิศ เเละวางไว้ที่โคนเสาอีกหนึ่งกระบะ เครื่องบูชาดังกล่าวถือว่า กระบะที่อยู่บนยอดเสานั้น จัดไว้สังเวยเเก่พระอินทร์ ที่ปลายไม้ทั้งสี่ทิศนั้นเป็นกระทงเครื่องสังเวยท้าวจตุโลกบาลมหาราชทั้งสี่พระองค์ตามทิศที่ท่านนั้นๆ ปกครองดูเเลอยู่ เเละกระบะที่โคนเสานั้นถือว่าเป็นเครื่องบูชาเเก่พระเเม่ธรณี
พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ จัดเมื่อใด ?
พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ เป็นพิธีบวงสรวงท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 และเทพเทวดาทั้งหมด 6 องค์ ซึ่งจะมีการทำพิธีบวงสรวงท้าวทั้งสี่ทุกครั้งก่อนที่จะประกอบพิธีมงคล อย่างงานเฉลิมฉลองศาสนสถาน เคหะสถาน และงานมงคลทั่วไป ซึ่งจะต้องมีการทำปราสาทหรือเเท่นท้าวทั้งสี่ แล้วนำสะทวง (สะตวง) ไปวางไว้ที่ยอดเสากับปลายไม้ทั้งสี่ทิศ เเละวางไว้ที่โคนเสาอีกหนึ่งกระบะ โดยมีอาจารย์ที่ประกอบพิธีจะกล่าวโองการสังเวยท้าวทั้งสี่ก่อนการมงคล เช่น หากจะจัดงานในตอนเช้า ก็จะประกอบพิธีในตอนเย็นของวันก่อนหน้านั้น ถ้าจัดงานในตอนสายหรือตอนบ่ายก็จะไปประกอบการสังเวยในตอนเช้าของวันงานนั้น
พระราชกรณียกิจ หรือหน้าที่ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4
ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ มีหน้าที่เกี่ยวกับโลกมนุษย์ และโลกทิพย์ไปพร้อมกัน เสนาและราชบุตรของพระองค์ย่อมรับสนองเทวโองการในการรักษาความเรียบร้อยในโลกมนุษย์ และเทวโลก เพื่อผดุงธรรมเหล่าธรรมมิกชน ทั้งหลายในวันขึ้นหรือแรมแปดค่ำ เหล่าเสนาบดีของท้าวมหาราช ก็จะสำรวจดูผู้ดำเนินศีลาจารวัตร เช่น คนเคารพพ่อแม่ สมณพราหมณ์ ผู้เฒ่า ผู้รักษาศีล และกระทำกรณีกิจอื่นๆ เป็นต้นว่า คนมาบวงสรวง อันเชิญคุ้มครองป้องกันเคหะสถานบ้านใหม่ในขวบปีหนึ่งมี เช่น สรวงวันปากปี คือวันที่ 16 เมษายนของทุกปี ในวันแรม ขึ้น 15 ค่ำ จตุราชาธิบดีจะเสด็จลงมาเอง ทั้งนี้ท้าวมหราชทั้ง 4 ยังคงถวายการอารักขาพระพุทธองค์ ตั้งแต่อยู่ในพระครรภ์ของพระมารดาและยังถวายความช่วยเหลือ พระพุทธองค์ พุทธสาวก และ ค้ำจุนพุทธศาสนาในครั้งที่ นายพาณิชย์ ชื่อตปุสสะ และ ภัลลลิกะถวายข้าวสัตตุผงสัตตุก้อนและรวงผึ้งนั้น พระพุทธองค์ทรงปริวิตกว่า จะรับด้วยพระหัตถ์ก็เป็นการไม่เหมาะสม เมื่อท้าวจตุโลกบาลทราบความในพระทัยก็ทูลเกล้าถวายบาตรพระแก้วมรกต ซึ่งโดยพุทธานุภาพ ทรงอธิษฐานให้บาตรแก้วรวมกันเป็นแก้วใบเดียว แล้วทรงรับบิณฑบาตดังกล่าว ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนา มหาราชทั้งสี่เสด็จมายังสะพานที่นั้นให้สว่างด้วยเทวรังสี และน้อมเกล้าพระธรรมเทศนาด้วยดุษฎีภาพ สำหรับประชาชนนั้น นับถือท้าวจตุโลกบาล ซึ่งนิยมรียกกันว่า ท้าวทั้ง 4 ยิ่งนัก โดยจะอัญเชิญท้าวทั้งสี่มารักษางานต่างๆ เช่นงานขึ้นบ้านใหม่ งานฉลองวัด งานทำบุญ การขอความคุ้มครองในวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี หากท่านสังเกตจะเห็นว่า ประเพณีทางภาคเหนือ จะนับถือท้าวทั้งสี่ แต่ประเพณีทางภาคกลางจะนับถือและทำพิธีไหว้พระภูมิ หรือพระชัยมงคล
เครื่องบวงสรวงหรือเครื่องบนอธิษฐาน
การทำสถานที่ทำเครื่องเซ่น (เครื่องสังเวยพลีกรรม) ทำด้วยกาบกล้วยเรียกว่า “สะตวง” คือกระทงจำนวน 6 ใบ สำหรับใส่เครื่องเซ่น (เครื่องสังเวยพลีกรรม) อาหารและผลไม้เป็นเครื่องสี่ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
- กระทงที่ 1. ข้าว 4 คำ
- กระทงที่ 2. อาหาร 4 ชิ้น จะเป็นเนื้อหรือปลาก็ได้
- กระทงที่ 3. ข้าวเหนียวหรือข้าว 4 ถุง หรือ 4 คำ
- กระทงที่ 4. แกงส้ม 4 ชุด
- กระทงที่ 5. แกงหวาน 4 ชุด
- กระทงที่ 6. หมากพลู บุหรี่ เมี่ยง 4 ชุด เครื่องประเกอบ ดอกไม้ ธูปเทียน 4 ชุด เครื่องประเกอบ เหลือง แดง ขาว เขียว 4 ชุด
การทำสะตวงนั้นนิยมเอากาบกล้วยมาหักพับเสียบด้วยกลัดไม้ไผ่ ซึ่งจักตอกให้คงรูปเป็นสี่เหลี่ยม แล้วเอากระดาษรองเข้าในสะตวง เพื่อใช้เป็นที่วางเครื่องเซ่น (เครื่องสังเวยพลีกรรม)
สะตวง สำหรับไหว้ท้าวทั้งสี่
สะตวง หรือสะทวงที่เตรียมไว้สำหรับพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ ไม่ได้มีแต่เฉพาะไว้ไหว้ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 เท่านั้น แต่สะตวงที่เตรียมไว้ในพิธีเพื่อเซ่นไหว้จะเตรียมไว้เซ่นไหว้ทั้งหมด 6 ชุด เนื่องจากคนโบราณมีการสังเวยเทพอีก 2 องค์ รวม 6 องค์ ประกอบด้วย
- พระอินทร์ ผู้ปกกครองท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่
- ท้าวธตรฐ ผู้รักษาทิศตะวันออก
- ท้าววิรุฬหก ผู้รักษาทิศใต้
- ท้าววิรูปักษ์ ผู้รักษาทิศตะวันออก
- ท้าวเวสสุวัณณ์ ผู้รักษาทิศเหนือ
- นางธรณีเทวธิดา ผู้รักษาแผ่นดิน
ซึ่งการไหว้ถวายเครื่องสังเวยต้องมีสะตวง 6 ชุด ของพระอินทร์ ตั้งตรงกลางอยู่สูงกว่าตะตวงอื่นๆ ของนางเทพธิดาธรณี (พระแม่ธรณี) วางไว้ล่างสุดใกล้กับแผ่นดิน ส่วนท้าวจตุโลกบาลตั้งตามทิศตั้งตามทิศของท้าวจตุโลกบาลแต่ละองค์เวลาทำการสังเวยหากจะมีงานในตอนเช้า นิยมทำการสังเวยตอนเย็นก่อนหนึ่งวัน หากจะทำพิธีตอนกลางวัน นิยมสังเวยในตอนเช้า
ความหมายของพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่
ความมุ่งหมายของการสังเวยในพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ คือ อัญเชิญให้เทพทั้ง 6 องค์ลงมาทำการรักษางานพิธี ผู้ที่เป็นเจ้าของงานจะทำการจุดเทียนจุดธูปบนสะตวงแล้ววางไว้ ปู่อาจารย์จะกล่าวคำสังเวยต่อไปนี้
คำสังเวยพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่
สัคเค กาเม จะ รูเป ศิริสิขะระตะเฏ จันทะลิกเข วิมาเน พรหมาตะโยจะ จะตุโลก ปลาราชาราช อินโท เวสสุวรรณณราชา อิริยะสาวะกา จปุถุชชนะ กัลป์ยาณะจะ สัมมา ทิฏฐิเยวะ พุทเธ ฐานะโต ยาวะ ปรัมปรา อิเมสุ จักกะวาเลสุ เทวะตา คะตายัง มุนิน วะระวะจะนัง สาธาโว โน สุณัรตุ
(กล่าว ๓ จบ)
แล้วว่า สุนันโต โภนโต เทวะสังฆาโย คูรา พระยา เทวดาเจ้าชุตน คือว่า พระยาธะตะระฐะตนอยู่รักษา หนวันออกก็ดี พระยาวิรุฬหะ ตนอยู่รักษาหนใต้ก็ดี พระยาวิรูปักขะ ตนอยู่รักษาหนวันตกก็ดี พระยากุเวระตนรักษาอยู่หนเหนือก็ดีพระยาพระยาอินทราเจ้าฟ้า ตนเป็นเจ้าเป็นใหญ่แก่เทวดา ใน สรวงสรรค์ชั้นฟ้า มีท้าวทั้งสี่ เป็นต้น เป็นประธานฝ่ายต่ำใต้มี พระยาอสุระและนางธรณีเป็นที่สุดๆ บัดนี้ผู้ข้าทั้งหลายก็ได้ป่ำเป็ง (มาจากคำว่า “บำเพ็ญ”) ภาวนามาจ๋ำศีลกินตานมาจำศีลกินทานมากน้อยเท่าไหร่ก็ดี ผู้ข้าทั้งหลาย ขอถวายกุศลส่วนบุญนี้เตื่อมแถมสมภาร เจ้าทั้งหลายตนประเสริฐ จุ่งจักมาอนุโมทนายินดีเซิ่งผู้ข้าทั้งหลาย แล้งขอเจ้ากูทั้งหลาย ซุตน จุ่งจักมาพิทักษ์รักษาพ่อแม่ลุกเต้า หลานเหลน ทาสี ทาสาช้างม้าข้าคน งัวควาย เป็ดไก่ หมูหมา ของเลี้ยง ของดูของผู้ข้าทั้งหลายจุ่งหื้อพ้นจากกังวล อันตรายทั้งหลายต่างๆ ก็จุ่งหื้อรำงับกลับหาย แก้ผู้ข้าทั้งหลายซุตัวซุคน มีพระยาเวสสุวัณณ์และนายหนังสือซุตน อันจัดโทษจัดคุณ จัดบุญ จัดบาป ตนเลียบโลกทั้งมวล ผู้ข้าทั้งหลาย ของจุ่งหื้อหลีกเว้นจากเขตบ้านเมืองแห่งผู้ข้าทั้งหลาย แล้วขอหื้อผู้ข้าทั้งหลายประกอบไปด้วยสรรพสวัสดี ขออย่าหื้อได้เจ็บได้ไหม้ ได้ไข้ ได้หนาว ขอหื้อยินดีซะราบ หื้อพ้นจากภัยทั้งมวล แล้วขอหื้อผู้ข้าทั้งหลาย ประกอบไปด้วยข้าวของเงินคำ ช้างม้าค้าคน วัวควายแก้วแหวน ข้าวเปลือกข้าวสาร ทาสีทาสาพร่ำพร้อมบัวละมวล ตามคำมักคำผาถนา (ปรารถนา) ชุเยื่องชุประการ นั้นจุ่งจักมี เที่ยงแท้ดีหลีแด่เทอะ
(แล้วหันหน้าไปตามทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ ดังนี้)
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ไหว้พร้อมกับกล่าว
“ปุริมัสมิง ทิสา ภาเค กายะ มัง รักขันตุ อะหังวันทามิ สัพพะทา ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสวหาย” (3 หน)
หันหน้าไปทางทิศใต้ ไหว้ กล่าวว่า
“ทักขิณสมิง ทิสาภาเคยา กาเย มัง รักขันตุ อะหังวันทามิ สัพพะทา ยันตัง สันตัง ปะทัง อภิสวาหาย” (3 หน)
หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ไหว้ กล่าวว่า
“ปัจฉิม มิสมิง ทิสาภาเค กาเย มัง รักขันตุ อะหังวันทามิ สัพพะทา ยันตัง สันตัง ปะทั้ง อะภิสวาหาย” (3 หน)
หันหน้าไปทางทิศเหนือ ไหว้ กล่าวว่า
“อุปริ มัสสสมิง ทิสภาเคยา กาเย มัง รักขันตุ อะหังวันทามิ สัพพะทา ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสวาหาย สัพพะอันตะรายา วินาสันตุ” (3 หน)
เป็นอันเสร็จพิธี
คาถาบูชาท้าวจตุโลกบาล , คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ
ที่มาขอ้มูล :
- เว็บไซต์ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง (m-culture.go.th)
- สารานุกรมวัฒนธรรมภาคเหนือ เล่มที่ 6
Leave a comment