ตำนานพิธีกวนเกษียรสมุทร การกวนน้ำอมฤต

ตำนานพิธีกวนเกษียรสมุทร แท้จริงทำเพื่ออะไร

พิธีกวนเกษียรสมุทร หรือการกวนน้ำอมฤต ทำขึ้นเพื่อใคร

สงครามการสู้รบระหว่างเหล่าเทพ เทวดา และยักษ์ อสูร ได้ดำเนินมาเนิ่นนานเพื่อแย้งชิงสวรรค์อันเป็นพื้นที่เดิมของพวกยักษ์ ในสมัยนั้นทั้งเทพและยักษ์ต่างมีฤทธิ์พอๆกัน เนื่องจากต่างฝ่ายก็มักจะได้รับพรจากพระศิวะ และพระพรหม (โดยปกติแล้วถ้าใครบำเพ็ญเพียรภาวนาด้วนความตั้งใจ จะไปขอพรจากมหาเทพพระศิวะ พระองค์ก็จะให้พรกับทุกๆคนโดยไม่เลือกว่าจะเป็นเทพ เทวดา ยักษ์ หรืออสูร ซึ่งหลังจากเกิดปัญหาจึงมี พระพิฆเนศ หรือพระพิฆเนศวร คอยทำหน้าที่สร้างอุปสรรค ไม่ให้ใครเข้าไปขอพรกันได้ง่ายๆ “พระพิฆเนศวร แปลว่าเทพแห่งอุปสรรค”)

พระอินทร์ผู้นำทัพฝ่ายเทพและเทวดา ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อจะยึดสวรรค์มาให้ได้ แต่ไม่ว่าด้วยวธีใดก็ไม่สามารถครอบครองสวรรค์ได้สักที ด้วยเหตุว่าพระอินทร์ถูกฤาษีตนหนึ่งนามว่า ฤๅษีทุรวาส สาปไว้ โดยให้พระอินทร์และเหล่าเทวะบริวารทั้งหลายหมดฤทธิ์อำนาจ เมื่อต่อสู้กับยักษ์และอสูร เนื่องจากฤๅษีทุรวาสได้นำดอกไม้ร้อยมาลัยถวายให้พระอินทร์ ซึ่งมีกลิ่นหอมมาก และกลิ่นหอมนั้นทำให้ช้างเอราวัณมีอาการหงุดหงิดและเกิดอาละวาดเหยียบมาลัยดอกไม้ที่ฤๅษีทุรวาสถวายให้พระอินทร์ เป็นเหตุให้ฤๅษีทุรวาสโกรธมากจึงสาปพระอินทร์และเหล่าเทวดาอื่นๆบนสวรรค์ ที่มี ตำนานพระอินทร์ถูกสาป กล่าวไว้  (ไม่ได้ความว่า พระอินทร์ ไม่มีเก่งหรือไม่มีความสามารถ)

เมื่อพระอินทร์ไม่สามารถรบชนะได้ จึงไปขอความช่วยเหลือจากพระศิวะและพระพรหม แต่พระศิวะและพระพรหมไม่สามารถช่วยได้ ด้วยถือว่าพรอันใดได้ประทานให้ใครไปแล้วก็ให้ไปเลย พระอินทร์จึงเหลือที่พึงสุดท้ายคือ พระนารายณ์หรือพระวิษณุ ให้ช่วย ซึ่งพระนารายณ์ก็แนะนำให้ไปทำพิธีกวนเกษียรสมุทร (เกษียรสมุทร แปลว่า ทะเลน้ำนม เป็นสถานที่พำนักของพระนารายณ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ โดยชื่อทะเลน้ำนมนี้มาจากลักษณะพื้นน้ำที่เป็นสีเงินยวงราวกับน้ำนม เพราะได้รับรัศมีแห่งอัญมณีสีเงินยวงจากเขาพระสุเมรุมาทาบทับ แต่บ้างก็เชื่อว่า เป็นทะเลน้ำนมจริงๆ ตามที่ตั้งชื่อ) เพื่อให้ได้น้ำอมฤตมาดื่มจะได้มีพลังและไม่มีวันตาย แต่การจะกวนเกษียรสมุทรได้ จะใช้แค่ฝ่ายเทพก็ไม่พอเพราะต้องใช้กำลังพลเยอะมาก พระอินทร์ จึงออกบุบายทำสัญญาสงบศึกกับพวกยักษ์และชักชวนกันมาทำการกวนเกษียรสมุทร เมื่อได้น้ำอมฤตมา ก็แบ่งปันกันไป จากนั้นพระอินทร์ก็ให้พญานาควาสุกรีและพญานาคบริวาลมาช่วยใช้ลำตัวเป็นเชือกเพื่อใช้ในการชัก

เมื่อเริ่มพิธีกวนเกษียรสมุทร ได้เทผสมโอสถสมุนไพรและสิ่งมงคลต่างๆลงใจกลางเกษียรสมุทร ซึ่งใช้แทนอ่างในการปรุงยา ใช้ภูเขามันทรคีรีมาตั้งบนทะเลน้ำนมที่อยู่ในไวผกูณฑ์สวรรค์ และให้พญานาคและบริวาลแทนเชือกชัก โดยพระอินทร์คิดไว้อยู่แล้วว่าถ้าชักนาคเมื่อไรพญานาคจะต้องเจ็บปวดมาก และต้องพ้นพิษออกมาแน่ๆ พระอินทร์จึงให้ยักษ์อยู่ทางหัวของพญานาค และให้เทพอยู่ทางหาง เมื่อเริ่มพิธีกวนเหล่าพญานาคก็พ้นไฟพิษไปโดนยักษ์ ต่างก็ทรมานทั้งยักษ์ทั้งนาค พิธีกรรมนี้ใช้เวลาชักเป็นพันปีกว่าจะได้น้ำอมฤต เมื่อพิธีกวนเกษียรสมุทร เพื่อกวนน้ำอมฤตเสร็จสิ้นลง จึงบังเกิดสรรพสิ่งวิเศษต่างๆ ผุดออกมาพร้อมน้ำอมฤต

สิ่งที่ได้จากการกวนน้ำอมฤต พิธีกวนเกษียรสมุทร

ในระหว่างการกวนน้ำอมฤต ซึ่งใช้เวลานานมาก ได้เกิดของวิเศษ 14 อย่างผุดขึ้นมาคือ

  1. พิษหะลาหละ (Halahal) ลอยออกมาเป็นลำดับแรก “หะลาหละ” เป็นพิษร้ายแรง จากบรรดาพญานาคและพญางูที่ช่วยกันทำเป็นเชือกใช้ดึงในพิธีกวนเกษียรสมุทร ซึ่งพิษหะลาหละ ตกลงยังมนุษยโลก จะบังเกิดเป็นเพลิงกรดเผาไหม้โลกให้เป็นจุล พระศิวะมหาเทพ ทรงทราบด้วยทิพยญาณว่าพิษร้ายนี้ ไม่มีใครจะกำจัดลงได้ เว้นแต่พระองค์เอง เมื่อดำริดังนั้นแล้ว จึงทรงดื่มพิษหะลาหละนั้น ฝ่ายพระแม่ปรวาตี เห็นพระสวามีกลืนพิษร้าย จึงได้กดพระศอพระศิวะไว้ เพื่อไม่ให้พิษไหลลงสู่พระอุทรได้
    ด้วยความร้ายกาจแห่งพิษนั้น ยังมีผลให้พระศอพระศิวะเป็นสีดำ พระองค์จึงมีอีกพระนามหนึ่งว่า นิลกัณฐ์ (Neelakanta) หรือผู้มีคอสีนิล นับแต่นั้นเป็นต้นมา และสีดำได้กลายเป็นสีของความรักอันบริสุทธิ์ของชาวฮินดู
  2. จันทรา (Chandra) ดวงจันทร์ (ไม่ใช่พระจันทร์ ที่เป็นเทพ) โดยทั้งฝ่ายเทวดา และอสูรต่างพร้อมใจกันถวายให้พระศิวะมหาเทพ เพื่อตอบแทนที่พระองค์นั้นทรงเสียสละดื่มกินพิษหะลาหละ พระองค์จึงนำมาทำปิ่นประดับพระเกศา
  3. เพชรเกาสุภตะ (Kaustubh) เป็นเพชรล้ำค่าในสามโลก ต่อมาพระนารายณ์ได้นำไปประดับพระอุระ
  4. พระศรีลักษมีในดอกบัว (Lakshmi) ดอกบัวที่พระศรีลักษมี ประทับอยู่ภายในดอกบัว เมื่อเสด็จออกมาจากดอกบัวก็ตรงไปเข้าเฝ้าพระนารายณ์ เพื่อถวายองค์เป็นพระมเหสี
  5. วารุณี (Varuni) เทพีแห่งสุรา ต่อมาได้เป็นชายาของพระพิรุณ
  6. ช้างไอราวัต (Airavata) หรือช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นช้างเผือกสามเศียร ซึ่งเป็นเทพพาหนะของพระอินทร์
  7. ม้าอุจฉัยศรพ (Uchchaihshravas) ม้าเจ็ดเศียร พระอาทิตย์รับไปเป็นม้าทรงราชรถ และเป็นต้นเหตุของการพนันระหว่างนางวินตาและนางกัทรุในตำนานการเกิดของครุฑ
  8. ต้นปาริชาติ (Parijat) เป็นต้นไม้ทิพย์ สามารถอำนวยความสำเร็จให้แก่ผู้ขอพร
  9. กามเธนุ (Kamadhenu) แปลว่าแม่โคอันพึงปรารถนา รู้จักกันอีกในนามหนึ่งว่า “โคสุรภี” (Surabhi) ซึ่งต่อมาให้กำเนิดวัวอุสุภราชหรือนันทิเกศวร (Nandi) อันเป็นเทพพาหนะทรงของพระอิศวร โดยมีเทวดานามเวตาลเป็นพ่อ (บางตำนานว่ากัศยปมุนี ปรารถนาจะนำโคกามเธนุไปเป็นพาหนะ แต่ติดว่าเป็นโคเพศเมีย จึงเนรมิตตนเป็นพ่อโคเข้าผสมด้วยโคกามเธนุจนเกิดลูกโคสีขาวบริสุทธิ์ ตั้งชื่อให้ว่า อุศุภราช มีลักษณะงดงามตามตำราจึงได้นำไปถวายพระอิศวร เพื่อเป็นเทพพาหนะบางตำรากล่าวว่านนทิเกศวรแท้จริงแล้วคือเทพบุตรนามว่า นนทิ เป็นผู้เฝ้าสัตว์ในเขาไกรลาสและหัวหน้าแห่งปวงศิวะสาวก เมื่อพระศิวะปรารถนาจะไปยังที่ใด นนทิก็จะแปลงกายให้เป็นโคเผือก เพื่อเป็นเทพพาหนะ) อันแม่วัวกามเธนุนั้น เป็นโควิเศษ สามารถเนรมิตสิ่งต่าง ๆ ตามที่เจ้าของปรารถนาได้
  10. หริธนู (Haridhanu) หมายถึง ธนูของพระหริ เป็นธนูที่ยิงไปไม่มีวันพลาดเป้า เป็นของพระนารายณ์(พระวิษณุ)
    มหากาพย์มหาภารตะ วิษณุปุราณะ และมหากาพย์รามายณะ มิได้กล่าวถึงธนูนี้ ว่ามาจากการกวนเกษียรสมุทร มีเพียงในปุราณะเท่านั้นที่กล่าวถึง ทำให้บางคนไม่ยอมรับว่า หริธนู อาวุธคู่กายพระนารายณ์ เกิดจากพิธีกวนเกษียรสมุทร
  11. สังข์ (Shankha) เป็นสังข์ศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาตกเป็นของพระนารายณ์ และพระกฤษณะใช้สำหรับเป่าบันลือเสียงบังเกิดชัยชนะแก่ศัตรู
  12. ปวงเทพีอัปสรสวรรค์ เหล่านางอัปสร (Apsara) 35 ล้านตน แต่ไม่มีใครยอมรับเอาไปครอบครอง จึงตกเป็นสมบัติส่วนกลาง มีหน้าที่คอยบำรุงบำเรอความสุขให้แก่เหล่าเทวดาและอสูรในเวลาต่อมา
  13. พระธันวันตริ (Dhanvantari) แพทย์สวรรค์อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ ทูน (วางของไว้บนศีรษะ) หม้อน้ำทิพย์อมฤตไว้บนหัว
  14. หม้อน้ำอมฤต (Amrita) เป็นการผุดขึ้นมาพร้อมกันของ ธันวันตริและหม้อน้ำอมฤตทูนหัว แล้วค่อยๆ ประคองวางหม้อน้ำอมฤตลงบนแท่นบัวทองคำอันวิจิตรสถิตอยู่ริมฝั่งเกษียรสมุทร

เมื่อหม้อน้ำอมฤตได้รับการทูนออกมา พวกอสูรและเทวดาก็แย่งกัน แต่เทวดาสู้ไม่ได้ พระนารายณ์จึงแปลงกายเป็นนางอัปสรชื่อ “โมหิณี (Mohini)” ไปล่อลวงอสูรให้หลงใหลในความงามของนาง พวกยักษ์กำลังแย่งชิง เมื่อเห็นนางอัปสรที่งดงาม จึงพากันไล่จับนางอัปสรจนลืมว่าพวกตนกำลังแย่งน้ำอมฤต ในระหว่างที่พวกยักษ์ไล่จับนางอัปสร ทำให้บรรดาเทพและเทวดาทั้งหลายได้ดื่มน้ำอมฤตกันถ้วนทั่ว มีเพียงอสูรตนหนึ่ง ซึ่งมีปัญญาเฉลียวฉลาดกว่าอสูรตนอื่นนามว่า “ราหู (Rahu)” ที่ไม่หลงกล ได้แปลงกายเป็นเทวดามาดื่มด้วย แต่พระอาทิตย์กับพระจันทร์รู้เข้าจึงไปฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์ขว้างจักรสุทรรศน์ไปตัดอสูรราหูขาดกลางลำตัว แบ่งเป็นสองท่อน แต่ด้วยอำนาจของน้ำอมฤตที่ดื่มไปทำให้พระราหูไม่ตาย ท่อนล่างเป็นงู ต่อมาเรียกกันว่า “พระเกตุ (Ketu)” ส่วนท่อนบนคือ พระราหู ที่รู้จักกันในปัจจุบัน ที่เหลือเพียงแต่ท่อนบนจากหัวถึงลำตัวจนทุกวันนี้ และพระราหูยังโกรธแค้นพระอาทิตย์กับพระจันทร์มาก หากเจอเมื่อใดเห็นจะต้องเข้าอมเล่นเพื่อบดบังรัศมี

พิธีกวนเกษียรสมุทรนี้ เป็นคำแนะนำอันแยบยลของพระนารายณ์ พิธกวนเกษียรสมุทรทำเพื่อพระอินทร์และเหล่าบรรดา เทพ เทวดาบนสวรรค์ทั้งหลายที่ต้องคำสาปจากฤาษี นามว่า ฤๅษีทุรวาส

Leave a comment