พระพุทธสิหิงค์ รูปจำลองของพระพุทธเจ้า ตามคำทำนาย
พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของไทย มีความซับซ้อนทางประวัติความเป็นมาที่สุด ประการแรกคือ มีพระพุทธสิงหิงค์หลายองค์ พระพุทธสิหิงค์กรุงเทพฯ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กรุงเทพมหานคร, พระพุทธสิหิงค์เชียงใหม่ ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่ และ พระพุทธสิหิงค์ นครศรีธรรมราช ณ หอพระพุทธสิหิงค์ นครศรีธรรมราช นอกจากพระพุทธสิหิงค์องค์หลักที่เรารู้จักทั้ง 3 องค์แล้ว ยังมี ที่จังหวัดตรัง (ถูกขโมยไปแล้ว) และที่วัดโคกขาม สมุทรสาคร ซึ่งพระพุทธสิหิงค์ทุกองค์ในแต่ละที่ ต่างก็อ้างว่า เป็นพระพุทธสิหิงค์องค์จริง คือ พระพุทธสิหิงค์ที่สร้างขึ้นในลังกา
หนังสือมิติลี้ลับสุดมหัศจรรย์ (สำนักพิมพ์สยามบันทึก) ของ โรม บุนนาค เขียนเรื่องการเดินทางของพระพุทธสิหิงค์ไว้ว่า
ตำนานพระพุทธสิหิงค์ของโบราณ เล่ากันไว้หลายสำนวน สำนวนที่กล่าวขานกันมาก พระโพธิรังสี พระภิกษุแห่งล้านนา แต่งเป็นภาษาบาลีไว้ เมื่อ พ.ศ.1985 ศ.ร.ต.ท.แสงมนวิทูร แปลเป็นภาษาไทย กรมศิลปากรจัดพิมพ์ไว้ในเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2506
พ.ศ.700 พระราชาสามองค์ พระอรหันต์ 20 องค์ และนาค 1 ตน ของลังกา ประชุมหารือกันสร้างพระพุทธปฏิมา (รูปจำลองของพระพุทธเจ้า) พระราชาและ พระอรหันต์ ติดขัดไม่มีผู้ใดเคยเห็นองค์จริงของพระพุทธองค์ แต่นาคซึ่งมีฤทธิ์บอกว่าเคยเห็น เนรมิตตนเป็นพระพุทธองค์นั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์แก้ว
พระราชาสั่งให้ช่างปั้น ขึ้นรูปพระพุทธเจ้าด้วยขี้ผึ้ง แล้วให้ช่างหล่อทำการหล่อองค์พระขึ้น ระหว่างการหล่อพระ ช่างคนหนึ่งทำไม่ถูกพระทัยพระราชา พระองค์ทรงตวัดหางกระเบนถูกนิ้วมือนายช่างที่หล่อพระ ผลที่ปรากฏ คือ เมื่อหล่อพระเสร็จ นิ้วพระหัตถ์นิ้วหนึ่งขององค์พระมีตำหนิ
พระราชาหารือกันว่า จะซ่อมแซมเฉพาะนิ้วพระหัตถ์ที่มีตำหนิของพระพุทธปฏิมาเสียใหม่ แต่พระอรหันต์ทักท้วงว่า ในภายภาคหน้า พระพุทธรูปองค์นี้ จะไปอยู่ชมพูทวีป และจะลอยทวนน้ำขึ้นไปอยู่ต้นลำน้ำ พระราชาองค์หนึ่ง ในประเทศนั้น จะเป็นผู้ซ่อมแซมนิ้วพระหัตถ์องค์พระปฏิมาให้เรียบร้อยสมบูรณ์เอง สามพระราชาคล้อยตาม สั่งให้ช่างขัดแต่งพระพุทธรูปจนงดงาม เนื่องจากพุทธลักษณ์ องค์พระปฏิมาเหมือนราชสีห์ จึงให้ขนานพระนามว่า พระพุทธสิหิงค์
เวลาอีก 800 ปีต่อมา พ.ศ.1500 มีพระราชาพระนามว่า ไสยรงค์ แปลว่า พระร่วงองค์ประเสริฐ ครองราชสมบัติกรุงสุโขทัย ปกครองดินแดนจากเหนือจรดใต้ถึงเมืองนครศรีธรรมราช วันหนึ่งพระร่วงท่านเสด็จไปถึงนครศรีธรรมราช ได้ทราบว่ามีพระพุทธปฏิมางดงามมาก อยู่ที่เกาะสิงหล พระร่วงท่านส่งสาส์นไปขอ พระราชาสิงหลซึ่งทราบคำพยากรณ์ของ 20 พระอรหันต์ จึงยินดีถวายให้พระร่วง
ตามตำนานเล่าตอนนี้ว่า ขบวนเรือที่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ล่องจากสิงหลมานครศรีธรรมราช ระหว่างทางเกยหินโสโครกจมอยู่กลางทะเล ลูกเรือจมน้ำเสียชีวิตทั้งหมด แต่องค์พระพุทธสิหิงค์สำแดงปาฏิหาริย์ ลอยน้ำไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช พระร่วงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ต่อ เพื่อประดิษฐานไว้ยังกรุงสุโขทัย
สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) กรุงสุโขทัยอ่อนแอลง พระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยาเข้ายึดสุโขทัย ส่งขุนหลวงพระงั่วไปครองสุโขทัย แต่ก็ทรงพระเมตตาให้พระมหาธรรมราชาที่ 4 มาครองพิษณุโลกแทน พระมหาธรรมราชาที่ 4 ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานที่พิษณุโลกด้วย
คราเมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 4 ทิวงคต พระเจ้าอู่ทองจึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ช่วงเวลาที่พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าณาณดิส ครองกำแพงเพชร วางแผนส่งแม่หลวงผู้เป็นพระราชมารดามาถวายพระเจ้าอู่ทอง ใช้อุบายอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปกำแพงเพชร เจ้ามหาพรหม ผู้ครองเชียงราย ทราบข่าวจึงเกิดความอยากได้พระพุทธสิหิงค์บ้าง จึงยกทัพมาเจรจาหว่านล้อม พระเจ้าญาณดิสก็ยอมถวายให้
เจ้ามหาพรหม ผู้ครองเชียงราย อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปทำพิธีฉลองที่หัวเกาะดอนแทน กลางลำแม่น้ำโขง หน้าเมืองเชียงแสน เนื่องจากพระพุทธสิหิงค์มีตำหนิที่นิ้วพระหัตถ์ เจ้ามหาพรหมจึงตัดนิ้วพระหัตถ์นั้น และซ่อมเสริมให้เรียบร้อยสมบูรณ์ด้วยทองคำ การซ่อมนิ้วพระหัตถ์ และที่ประดิษฐานเกาะดอนแท่น แม่น้ำโขง จึงสมตามคำทำนายของ 20 อรหันต์ เมื่อครั้งหล่อองค์พระที่ลังกา ทุกประการ
พระพุทธสิหิงค์ถูกยื้อแย่ไปงมา จนเมื่อ พ.ศ.2338 ประดิษฐานที่เชียงใหม่ เมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพขึ้นไปช่วยเจ้าเชียงใหม่ที่ถูกพม่าล้อมตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ตอนยกทัพกลับได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาที่กรุงรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานไว้ที่พระราชวังบวร โดยทรงอุทิศพระราชมณเฑียรองค์หนึ่งถวาย พระราชทานนามว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
เมื่อกรมพระราชวังบวรสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ทรงโปรดให้อัญเชิญไปไว้ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงโปรดให้อัญเชิญกลับไปไว้ที่พระราชวังบวรตามเดิม ทรงดำริที่จะอัญเชิญเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว วังหน้า ที่กรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ 3 สร้างไว้ แต่ขณะซ่อมแซมโบสถ์ มีการเขียนภาพตำนานพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่ผนังโบสถ์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระพุทธสิหิงค์ (กรุงเทพฯ) จึงยังคงประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์จนถึงทุกวันนี้ เป็น 10 พระพุทธรูปวังหน้า ที่เป็นพระพุทธรูปโบราณที่สำคัญของประเทศไทย
อานิสงส์การบูชาพระพุทธสิหิงค์
อานิสงส์ของการกราบไหว้พระพุทธสิหิงค์นั้น หลวงวิจิตรวาทการ ผู้รวบรวมประวัติ ตำนานย่อพระพุทธสิหิงค์ ได้กล่าวไว้ความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าผู้เขียนตำนานย่อฉบับนี้ มีความเชื่อมั่นในอานุภาพของพระพุทธสิหิงค์อยู่มาก อย่างน้อยก็สามารถบำบัดทุกข์ร้อนในใจให้เหือดหาย ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนในใจท้อถอยหมดมานะด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ข้าพเจ้าขอแนะนำให้มาจุดธูปเทียนบูชาและนั่งนิ่งๆ มองดูพระองค์สัก 10 นาที ความทุกข์ร้อนในใจจะหายไป ด้วงจิตที่เหี่ยวแห้งจะกลับมาสดชื่น หัวใจที่ท้อถอยหมดมานะ จะกลับเข้มแข็งมีความมานะพยายาม ดวงจิตที่หวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจคร้านจะกลับขยัน ผู้ที่หมดหวังจะกลับมีหวัง”
หลวงวิจิตรวาทการ ผู้รวบรวมประวัติ ตำนานย่อพระพุทธสิหิงค์
Leave a comment