พระประจำวันอังคาร - พระประจำวันเกิด | พระ9วัด

พระประจำวันอังคาร พระพุทธรูปปางไสยาสน์

พระพุทธรูปปางไสยาสน์

พระประจำวันอังคาร เป็นพระปางไสยาสน์ บางแห่งก็เรียก ปางปรินิพพาน ความเป็นมาของปางดังกล่าวมี ๒ นัย นัยแรกคือเมื่อครั้งพระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระจุนทะเถระปูอาสนะระหว่างต้นรังคู่หนึ่ง แล้วทรงประทับ บรรมแบบสีหไสยาสน์ ตั้งพระทัยว่าจะไม่ลุกอีก แต่ก็ยังได้โปรดสุภัททะปริพาชกจนได้เป็นอรหันต์องค์สุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน อีกนัยหนึ่งเล่าถึง “อสุรินทราหู” หรือพระราหู ผู้ครองอสูรพิภพ ได้ยินคำสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าจากเทพยดาทั้งหลาย ก็อยากไปเฝ้าบ้าง แต่ก็คิดเองว่าพระองค์เป็นมนุษย์ คงจะมีพระวรกายเล็ก ถ้าต้องไปเฝ้าก็ต้องก้มเศียรลง ก็รู้สึกถือตน ไม่อยากไป จนได้ยินคำสรรเสริญอีกก็ทนไม่ได้ จึงไปเข้าเฝ้าในที่สุด ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงทราบความในใจนี้ จึงทรงเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่โตกว่าอสุรินทราหูหลายเท่า และเสด็จบรรทมรอรับ เมื่ออสุรินทราหูเข้าเฝ้าก็รู้สึกอัศจรรย์ใจ ที่ต้องแหงนหน้ามองดูพระพุทธเจ้าแทนที่จะต้องก้มมอง พระองค์จึงได้ตรัสสอนและพาไปเที่ยวพรหมโลกเพื่อให้เห็นว่ามีผู้ที่มีร่างกายใหญ่กว่าอสุรินทราหูมากมาย จนอสุรินทราหูลดทิฐิลงได้และหันมาเลื่อมใสพระบรมศาสดา

ประวัติพระประจำวันอังคาร

พระพุทธเจ้าครั้นโปรดสุภัททปริพาชกให้บรรพชาอุปสมบทและให้สำเร็จเป็น พระอริยเจ้าเป็นปัจฉิมสาวกแล้ว ต่อมาพระอานนท์จึงได้ทูลถามพระองค์ว่า พระฉันนะถือตัวว่าเป็นข้าเก่า ติดตามพระองค์คราวเสด็จออกบวช เป็นคนว่ายากสอนยาก แม้จะกรุณาเตือนแล้วก็ตาม เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ยิ่งจะว่ายากขึ้นไปอีก หาผู้ยำเกรงมิได้ ข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติต่อพระฉันนะนั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือ ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงโอวาท ไม่พึงสั่งสอน เมื่อถูกพรหมทัณฑ์แล้ว จะสำนึกผิดเอง

ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าได้ตรัสปัจฉิมโมวาท เตือนว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรม เธอทั้งหลาย จงทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ในลำดับแห่งการพิจารณาองค์แห่งจตุถฌาน ก็บังเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินใหญ่ไหวสะเทือนสะท้าน เกิดการโลมชาติ ชูชันขันพองสยองเกล้า กลองทิพย์ก็บันลือลั่นในอากาศ พร้อมกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายพากันเศร้าโศก ร่ำไห้ คร่ำครวญถึงพระองค์ พระอานนท์และพระอนุรุทธเถระได้แสดงธรรมเพื่อปลอบโยนมหาชน พุทธศาสนิกชนเมื่อรำลึกถึงการเสด็จปรินิพพานของพระองค์ จึงได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เพื่อบูชาพระพุทธองค์

พระประจำวันอังคาร ปางไสยาสน์
พระประจำวันอังคาร ปางไสยาสน์

พุทธลักษณะพระพุทธรูปปางไสยาสน์ :

พระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระประจำวันอังคาร พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้)

ทำไมพระประจำวันอังคาร จึงเป็นพระปางไสยาสน์หรือพระปางปรินิพพาน :

เหตุที่พระประจำวันเกิดของคนเกิดวันอังคาร กำหนดเป็นพระปางไสยาสน์หรือพระปางปรินิพพาน เพราะดาวอังคารจัดเป็นดาวพิฆาตหรือดาวมรณะ และยังเป็นดาวเกี่ยวกับสงคราม และอุบัติเหตุ ดังนั้น ปางนี้จึงเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้คนวันนี้ดำรงชีวิตด้วยความมีสติ ระมัดระวังไม่ไปก่อเหตุกับใคร อีกทั้งวันที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานก็ตรงกับวันองคาร ส่วนที่กล่าวถึงการโปรดอสุรินทราหู นั้นน่าจะหมายถึงการขจัดความมัวเมาลุ่มหลง เห็นผิดเป็นชอบ อันเป็นลักษณะของพระราหูด้วย

รายชื่อพระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระประจำวันอังคาร

บทสวดบูชาพระประจําวันอังคาร แบบย่อ :

(ตั้งนะโม ๓ จบ)

“ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง”

สวด ๘ จบ เพื่อเสริมสิริมงคลชีวิต

คาถาบูชาพระประจำวันอังคาร

บทสวดบูชาพระพุทธรูปประจำวันอังคาร(แบบย่อ)

วอลเปเปอร์เสริมดวง คนเกิดวันอังคาร

วอลเปเปอร์เสริมดวงวันเกิด แจกฟรี พระประจำวันเกิด คนเกิดวันจันทอังคาร เสริมดวงชะตา
วอลเปเปอร์เสริมดวงวันเกิด แจกฟรี พระประจำวันเกิด คนเกิดวันจันทอังคาร เสริมดวงชะตา

พิกัด ไหว้พระประจำวันอังคาร พระพุทธรูปปางไสยาสน์

พระประจำวันเกิด 7 วัน


ที่มาของประวัติความเป็นมา:

  • เว็บไซต์ ฐานข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น
    มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
  • กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

Leave a comment